มาตรการโครงการ “ช้อปดีมีคืน 2565” กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
โครงการ“ช้อปดีมีคืน 2565” เป็นมาตรการที่ทางรัฐบาลออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค สำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงช่วยเหลือผู้ประกอบการและร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและค่าบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หนังสือ e-Book และสินค้า OTOP โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด สำหรับปีภาษี 2565 ซึ่งจะยื่นแบบและชำระภาษีในช่วงต้นปี 2566
ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565
เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ
1. เป็นผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. เป็นสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นในระหว่าง 1 มกราคม 2565 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565
3. เป็นสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
4. ไม่ต้องลงทะเบียน ใช้เพียงใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ได้จากการซื้อสินค้าหรือบริการของร้านค้าในช่วงระยะเวลาที่กำหนด (ระบุข้อมูลผู้ขาย ผู้ซื้อ และรายละเอียดของสินค้าและบริการให้ถูกต้อง)
สินค้าและบริการที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้
1. สินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. หนังสือ (รวมถึง e-book)
3. สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
สินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้
1. ค่าสุรา เบียร์ ไวน์ ค่ายาสูบ
2. ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
3. ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
4. ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อ มูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
5. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์
6. ค่าที่พักในโรงแรม บัตรโดยสารเครื่องบิน
7. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
8. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
9. ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์
10. ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
สิทธิได้คืนภาษี คำนวณจากฐานภาษีของแต่ละบุคคล โดยมีสิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 30,000 บาท
เงินได้สุทธิ (บาท) | อัตราภาษีเงินได้ (%) | สิทธิได้คืนภาษีสูงสุด (บาท) |
0-150,000 | ยกเว้นภาษี | 0 |
150,001-300,000 | 5% | 1,500 |
300,001-500,000 | 10% | 3,000 |
500,001-750,000 | 15% | 4,500 |
750,001-1,000,000 | 20% | 6,000 |
1,000,001-2,000,000 | 25% | 7,500 |
2,000,001-5,000,000 | 30% | 9,000 |
5,000,001 ขึ้นไป | 35% | 10,500 |